ไทยขาดดุลค้าจีนพุ่ง 1.2 ล้านล้าน จี้รัฐถกเอกชน คุมเข้มสินค้าสำแดงเท็จทะลัก

17 เมษายน 2567
ไทยขาดดุลค้าจีนพุ่ง 1.2 ล้านล้าน จี้รัฐถกเอกชน คุมเข้มสินค้าสำแดงเท็จทะลัก

สินค้าจีนทะลักแนวโน้มไทยขาดดุล การค้าเพิ่ม ปี 66 กว่า 1.29 ล้านล้านบาท 2 เดือนแรกปี 67 ขาดดุลแล้ว 2.82 แสนล้าน กระทบการใช้กำลังผลิตในประเทศ สภาอุตฯชี้วาระเร่งด่วน รัฐผนึกเอกชนคุมเข้มสินค้าลักลอบนำเข้า-สำแดงเท็จ ห่วง SMEs ม้วนเสื่อเพิ่ม

การค้าไทยกับประเทศจีน คู่ค้าอันดับ 1 (ไม่นับอาเซียน) ยังอยู่ในภาวะหดตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยในปี 2566 เศรษฐกิจจีนแม้จะกลับมาขยายตัวได้ดีเกินคาด ขยายตัวที่ 5.2% ขณะที่ปี 2567 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว คาดจะขยายตัวได้ที่ 4.5% จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ และความเสี่ยงเรื่องภาวะเงินฝืด

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2564 การค้าไทย-จีนมีมูลค่ารวม 3.30 ล้านล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้าจีน 954,194 ล้านบาท, ปี 2565 มูลค่าการค้ารวม 3.67 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.29 ล้านล้านบาท, ปี 2566 การค้าไทย-จีน มีมูลค่ารวม 3.64 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.29 ล้านล้านบาท ล่าสุดช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-จีน มีมูลค่า 601,049.53 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 282,071.73 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด สินค้านำเข้าสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้าจีน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก และรถยนต์ เป็นต้น

ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่เกินดุลการค้าจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, ยางพาราและผลิตภัณฑ์, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, ไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ในระยะข้างหน้า การขาดดุลการค้ากับจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทยในภาพใหญ่ที่ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดีข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สินค้านำเข้าของไทยจากจีนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือสินค้าทุนหรือวัตถุดิบ สินค้ากลุ่มนี้จะนำมาใช้ในภาคการผลิต เพื่อผลิตสินค้าสำหรับป้อนตลาดในประเทศหรือส่งออก ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตขยายตัวและส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานในประเทศ 

ส่วนสินค้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่มีโอกาสจะเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตไทย และอาจกระทบกับการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ โดยจากสถิติการนำเข้าในปี 2566 พบว่า สินค้านำเข้าจากจีนที่ขยายตัวสูงยังคงเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก(+472%) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (+3%) เป็นต้น การที่สินค้าจีนนำเข้ามามากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในไทยจำเป็นต้องปรับตัว เช่น การบริหารต้นทุนเพื่อให้ราคาสินค้าที่ผลิตในไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน และยุโรปกับจีน ส่งผลให้สินค้าจีนเข้าสหรัฐและยุโรปลดลง และทะลักมายังอาเซียนซึ่งรวมถึงไทยมากขึ้น โดยสินค้าเข้ามาทุกทิศทุกทาง เป็นสินค้าราคาถูก ทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายในลักษณะลักลอบนำเข้า และสำแดงเอกสารการนำเข้าที่เป็นเท็จ คล้ายกรณีสินค้าหมูเถื่อนนำเข้าจากต่างประเทศที่สำแดงเป็นอาหารทะเล ทำให้การตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานสินค้าเป็นไปได้ยาก

“เราไม่โทษสินค้าที่ทะลักเข้ามา เพราะที่ไหนขายได้เขาต้องขาย ถ้ามาตรการของประเทศไหนดีก็เข้าไปได้น้อย แต่ของเราควบคุมดูแลไม่ดี สินค้าเลยไหลเข้ามามากกว่าประเทศอื่น กระทบภาคผลิตที่เป็นเอสเอ็มอีของเรา เวลานี้หลายรายต้องปิดตัว บางรายผันตัวเป็นผู้นำเข้ามาจำหน่ายแทน เรื่องนี้เป็นมาตรการที่ภาคเอกชนกับภาครัฐจะต้องมาคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขอย่างจริงจังก่อนที่จะสายเกินไป” นายเกรียงไกร กล่าว


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.